กระบวนการหายของแผล
อัพเดตเมื่อ: ม.ค. 18
ก่อนที่เราจะเข้าใจเรื่องการดูแลแผลหลังทำเลเซอร์นะคะ เราต้องรู้จักเกี่ยวกับการหายของแผลค่ะ
ทุกแผลที่เกิดขึ้นกับผิว จะมีกระบวนการซ่อมแซมเกิดขึ้นเอง อัตโนมัติ เรียกว่า wound healing หรือ การหายของแผลค่ะ อย่างเวลาที่เราถูกมีดบาด หกล้มหัวเข่าถลอก ถ้าใครสังเกต แผลจะแดง เจ็บก่อนจากนั้น จะตึง มีน้ำเหลือฉ่ำ มากบ้านน้อยบ้าง เป็นสะเก็ด จากนั้นสะเก็ดหลุด ก็จะหายเป็นเนื้อสีแดงชมพู จากนั้นสีค่อยๆกลืนไปกับผิวหนัง เหล่านี้คือกระบวนการแสดงของการหายของแผล ซึ่งแต่ละขั้นตอนการหายของแผล หากสะดุด หรือมีสิ่งไม่พึงประสงค์ขึ้น จะเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ได้ เช่น การติดเชื้อ สีผิดคล้ำ แผลเป็นใหญ่ขึ้น ซึ่งหลังการรักษานั้น หน้าที่การดูแลหลักจะเป็นของผู้ป่วย จึงจำเป็นที่หมอจะอธิบาย ถึงขั้นตอนและความสำคัญในการดูแลตนเอง เพื่อให้กลับไปดูแลตนเอง ได้ถูกต้อง ให้การหายของผิว เป็นไปอย่างสมบูรณ์
หลังการเกิดแผลร่างกายจะเข้าสู่กระบวนการซ่อมแซมแผลทันที เริ่มต้นจากขั้นแรกที่เรียกว่า Homeostasis
คือกระบวนการห้ามเลือดอัตโนมัติของร่างกายด้วยเกล็ดเลือด เราจะสังเกตได้ผ่า แผลที่ไม่ใหญ่นัก เลือดจะหยุดไหลได้เอง เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน นอกจากนี้เกล็ดเลือดยังทำหน้าที่หลั่ง growth factor เพื่อเตรียมร่างกายให้เข้าสู่กระบวนการซ่อมแซมขั้นต่อไป
หากเกิดความผิดปกติของการหายในขั้นตอนนี้ ทำให้มีเลือดไหลไม่หยุด หยุดช้า แผลใหญ่ๆ ก็จะมีก้อนเลือด รอยช้ำ ถ้าทำแผลไม่ถูกวิธีอาจจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้ นี่เป็นสาเหตุให้ ก่อนและหลังการผ่าตัด หรือการรักษาที่ทำให้เกิดแผล เราควรเลี่ยงการรับประทาน ยาและอาหารเสริม ที่ส่งผลรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด หรือกระบวนการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดกลุ่มของ NSAID แอลกอฮอร์ น้ำมันตับปลา แปะก๊วย เพื่อให้การแข็งตัวของเลือด เป็นไปตามปกติ ลดโอกาสการเกิดรอยช้ำ จ้ำเลือด
ผ่านจากระยะ ที่เลือดหยุดไหล ก็จะเข้าสู่ระยะของการอักเสบ ระยะนี้ บริเวณแผล จะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวมาเก็บกินเนื้อตาย และเชื้อโรคด้วยการหลั่งเอนไซม์ protease ระยะนี้ไม่กี่ชั่วโมงหลังการเกิดแผลและอาจยาวนานได้ถึง 2 สัปดาห์ แผลที่มีการอักเสบ มากหรือนานกว่าปกติ จะเกิดผลเสียคือ เพิ่มการเกิดแผลเป็น รอยดำหลังการรักษา
ระยะที่ 3 คือ proliferation คือ การสร้างเซลล์เนื้อเยื่อ และเส้นเลือดใหม่ จะเริ่มภายใน 24 ชั่วโมงแรก เซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างและซ่อมแซมจะทำงาน โดยการส่งเสริมของ Growth factor ผลลัพธ์คือ ผิวตึงเกิดเป็นสะเก็ด ปกคลุมแผล
ระยะสุดท้ายคือ Remodeling คือการจัดเรียงเนื้อเยื้อใของแผลใหม่ เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณแผลมีความแข็งแรง โดยมีการสร้างคอลลาเยจน type 1 คือคอลลาเจนชนิดปกติเพิ่มขึ้น โดยขั้นตอนนี้ ใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อให้ผิวบริเวณที่เกิดแผลกลับมาแข็งแรงเป็น 80% ของผิวหนังปกติ
ผิวหนังของทุกคนจะเกิดกระบวนการทั้ง 4 นี้เมื่อเกิดแผล โดยเกิดในลักษณะคาบเกี่ยวหรือ overlap กัน เช่น ท้ายกระบวนการห้ามเลือด ก็จะมีกระบวนการอักเสบเกิดขึ้นแล้ว
อัตราการหายของแผลช้าเร็วแตกต่างกันในแต่ละคน
การดูแลแผลอย่างถูกวิธี เป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้แผลหายไวอย่างสมบูรณ์ที่สุด ไม่ทิ้งรอยดำ หรือแผลเป็นไว้